วันอังคารที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เลือกสัดส่วนภาพแบบไหนดี 3:2 / 4:3 / 16:9

กล้องดิจิตอลรุ่นใหม่ๆ จะมีให้เลือกขนาดภาพ โดยอิงกับสัดส่วนภาพ

หลายคนอาจจะงงๆ ว่า ขนาดภาพแต่ละแบบ 3:2 , 4:3 , 16:9 มันต่างกันยังไง ใช้แบบไหนดี

กล้องรุ่นแรกๆ จะใช้สัดส่วนภาพแบบ 3:2 ต่อมาหลังๆ ก็จะมีให้เลือกขนาดอื่นๆ ด้วย ทั้ง 4:3 หรือ 16:9 ซึ่งถ้ากล้องใครไม่มีให้เลือก ก็ไม่ต้องตกใจไป ว่าทำไมกล้องไม่เหมือนชาวบ้าน ฮ่า

ที่จริงแล้ว หลายคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่าสัดส่วนของภาพ มันทำให้ขนาดภาพต่างกัน


หลายคนถ่ายภาพมาแล้วเอาไปอัดลงกระดาษอัดภาพเป็นอัลบัม (เดี๋ยวนี้น่าจะอัดภาพกันน้อยลงแล้วหรือเปล่านะ เพราะเห็นส่วนใหญ่ถ่ายแล้วกดแชร์เข้า facebook, instagram โชว์เพื่อนได้เลย)

พออัดลงกระดาษแล้วบางครั้งอาจเจอกรณีว่า ทำไมมีขอบขาวที่ด้านข้าง หรือด้านบนล่าง

นี่แหละ คือปัญหาจาก "สัดส่วนของภาพถ่าย"

มาดูกันว่าสัดส่วนแต่ละแบบมันคืออะไร



ขนาด 3:2

เป็นสัดส่วนขนาดดั้งเดิมสุดตั้งแต่สมัยกล้องฟิล์ม เวลาเราอัดภาพลงกระดาษขนาดจัมโบ้ จะได้ภาพขนาด 6 x 4 นิ้ว เมื่อเอา 2 หารทั้งสองค่า ให้เหลือค่าน้อยสุดที่หารต่อไม่ได้แล้ว ก็จะได้ตัวเลข 6/2 = 3, 4/2 = 2 ดังนั้นกล้องทั่วไปจะมีสัดส่วนนี้ให้เลือก และมักตั้งเป็นค่าเริ่มต้นด้วย

เวลาที่เราเห็นโฆษณา ที่บอกว่ากล้องรุ่นนั้นรุ่นนี้ ถ่ายภาพได้กี่ล้านๆ พิกเซล เขานับจากสัดส่วน 3:2 นี่แหละ





ขนาด 4:3

สัดส่วนนี้เริ่มเป็นที่นิยมเมื่อถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอล เพราะจอภาพคอมพิวเตอร์นั้นใช้สัดส่วนขนาดนี้ คิดจากตัวเลขน้อยๆ ก่อนละกัน จะได้งงน้อยหน่อย ฮ่า

จอสมัยก่อนมีความละเอียด 640 x 480 จุด เมื่อเอา 16 ไปหารทั้งสองค่า จะได้ตัวเลข 640/16 = 4, 480/16 = 3 นี่แหละ ถึงเรียกว่าสัดส่วน 4:3

มาหลังๆ ความละเอียดจอภาพมากขึ้น เช่น 1024 x 768, 1280 x 960 ก็ยังคงสัดส่วนขนาดเดิมคือ 4:3 (ยกเว้นพวกจอที่มีสัดส่วนประหลาดๆ ในระยะแรก ซึ่งมีน้อยมากๆ)

ภาพที่ใช้แสดงบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ เพื่อความสวยงาน ก็เลยต้องแสดงผลให้เต็มจอด้วยสัดส่วนขนาดนี้

กล้องดิจิตอลนั้น พอถ่ายออกมาก็จะได้ไฟล์ภาพเป็นไฟล์ที่เปิดกับคอมฯ ได้เลย ซึ่งหากต้องการแสดงผลให้เต็มจอพอดี ก็เลยมีสัดส่วนขนาดนี้มาให้เลือก

ทีนี้เวลาที่ถ่ายภาพด้วยสัดส่วนนี้ ดูบนจอคอมฯ มันเต็มพอดี แต่เวลาอัดภาพ มันกลับไม่พอดี เพราะว่าอะไร

ลองเอาตัวเลข 4:3 มาคูณ เพื่อเทียบกับสัดส่วนภาพ 3:2 ดูนะ ลองคูณค่าแรกด้วย 2 และคูณค่าหลังด้วย 2 จะได้ผลออกมาคือ

4:3 คูณ 2 = 8 x 6 นิ้ว
3:2 คูณ 3 = 9 x 6 นิ้ว

จะเห็นได้ว่าสัดส่วน 3:2 นั้นมีพื้นที่ด้านยาว 9 นิ้ว ซึ่งมากกว่าสัดส่วน 4:3 ที่มีพื้นที่ด้านยาวเพียง 8 นิ้ว

ดังนั้นพอเอาภาพถ่ายที่ถ่ายด้วยสัดส่วน 4:3 ไปอัดลงกระดาษขนาดจัมโบ้ (4 x 6 นิ้ว) รูปภาพก็จะเล็กกว่ากระดาษ ทำให้เหลือขอบขาวอยู่ด้านข้างนั่นเอง

สัดส่วนภาพขนาดนี้ นอกจากหน้าจอคอมฯ แล้ว จอทีวี (รุ่นเก่า), จอโปรเจคเตอร์ฉายภาพ, จอ iPhone, จอ iPad, จอ iPod และจอมือถือ Android รุ่นเก่าๆ ก็ใช้สัดส่วนขนาดนี้เช่นเดียวกัน เวลาเปิดภาพที่ถ่ายด้วยสัดส่วนนี้ ก็จะเต็มจอพอดี





ขนาด 16:9

สัดส่วนนี้เริ่มมีเมื่อจอทีวีแข่งกันขยายด้านกว้าง เวลาดูหนังจะได้อารมณ์จอกว้างเหมือนกับไปดูในโรงหนังนั่นแหละ

ด้วยความที่เทคโนโลยีเปลี่ยนไป ทำให้เราสามารถเอาหนังมาเปิดในอุปกรณ์ใกล้ตัวได้มากขึ้น หลายคนก็เลยใช้คอมฯ แบบตั้งโต๊ะและแบบพกพา (notebook) สำหรับดูหนังไปด้วยนอกเหนือจากทำงานและเล่นเกม

หลายๆ คนที่อยู่หอพัก เลือกที่จะดูหนังจากคอมฯ โดยไม่มีทีวีในห้อง เพราะประหยัดพื้นที่

พอสัดส่วนขนาดนี้ได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้น ทุกวันนี้เราจะเห็นทีวีจอกว้าง คอมฯ จอกว้าง notebook จอกว้าง แข่งกันกว้างจนชินตา แม้แต่มือถือ Android และแท็บเล็ต Android ก็ยังใช้สัดส่วนจอกว้างแบบนี้เช่นกัน เพราะว่าเวลาดูหนัง จะได้ดูแบบเต็มๆ จอ

กล้องดิจิตอลก็เลยมีตัวเลือกสัดส่วนภาพขนาดนี้ตามมา

ซึ่งถ้าเราเอาภาพที่ถ่ายด้วยสัดส่วน 16:9 ไปอัดลงกระดาษ ก็เหมือนกับเราดูหนัง dvd ที่เป็นจอกว้าง บนทีวีที่จอไม่กว้าง แล้วมีแถบดำอยู่ด้านบนและล่างนั่นแหละ







งั้นเวลาถ่ายภาพจะเลือกสัดส่วนขนาดไหนถึงจะดี

จากเหตุผลที่บอกมาข้างต้น ผมเลือกขนาดภาพจากขนาดที่เราต้องการใช้งานครับ

ถ้าผมจะอัดลงกระดาษ ผมก็เลือกถ่ายที่ 3:2
ถ้าผมจะทำ wall paper บนจอไม่กว้าง หรือฉายขึ้นโปรเจคเตอร์ ผมก็เลือกถ่ายที่ 4:3
ถ้าผมจะเปิดภาพบนจอกว้าง ผมก็เลือกถ่ายที่ 16:9

ถ้าเราไม่แน่ใจ จะถ่ายเผื่อๆ ไว้ได้ไหม
คำตอบคือ ทำได้ครับ
โปรแกรมตกแต่งภาพทั่วไป ทำได้ทั้งนั้น โปรแกรมดูภาพบางโปรแกรมก็ยังทำได้เลย

แต่ผมไม่ทำแบบนี้ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ เพราะว่าเคยต้องเอามาตัดภาพแล้ว องค์ประกอบภาพมันไม่ค่อยสมบูรณ์

ตอนที่ถ่ายภาพ เรามีภาพอยู่ในหัวแล้วว่าต้องการแบบนี้ๆ
ตำแหน่งต่างๆ มันลงตัวอยู่ที่หลังกล้องอยู่แล้ว

งั้นถ้าเราจะถ่ายเผื่อๆ ตัดภาพล่ะ
ก็ได้เหมือนกันนะ แต่เล็งลำบากหน่อย และต้องมานั่งตัดภาพหลังจากถ่ายอีก ซึ่งผมขี้เกียจทำน่ะ ^^'a

อันนี้ก็แล้วแต่ชอบใจเลย


ข้างบนพูดถึงเรื่องของการใช้งานไปล่ะ ต่อไปจะพูดถึงเรื่องของความคุ้มค่า ว่าจะเลือกขนาดไหนดี
มีคนเขาบอกมาแบบนี้ว่า

ลองมองดูที่เลนส์ของกล้องเรานะ มันเป็นทรงกระบอกกลมๆ ใช่ไหม
งั้นทำไมเวลาถ่ายภาพถึงถ่ายออกมาเป็นภาพสี่เหลี่ยมล่ะ

นั่นก็เพราะเทคนิคการออกแบบเลนส์และเซนเซอร์ของกล้องเป็นแบบนั้น

ภาพสี่เหลี่ยมที่เราได้มา ก็คือสี่เหลี่ยมที่อยู่พื้นที่ตรงกลางของเลนส์นั่นเอง

ถ้าต้องการให้ได้ภาพครอบคลุมพื้นที่ของเลนส์มากที่สุด ก็ต้องเป็นสี่เหลี่ยมที่มีสัดส่วน 3:2
ลองดูจากในกล้องของเราก็ได้ ว่าพอเราเลือกสัดส่วน 4:3 หรือ 16:9 เราจะได้ขนาดภาพที่เล็กกว่า 3:2


ดูจากภาพ วงกลมคือเลนส์
พื้นที่สีแดงคือขนาดเซนเซอร์ของกล้อง ซึ่งเป็นสัดส่วน 3:2
พื้นที่สีเขียวคือขนาดภาพที่ถูกตัดให้เป็นสัดส่วน 4:3
พื้นที่สีน้ำเงินคือขนาดภาพที่ถูกตัดให้เป็นสัดส่วน 16:9



ดังนั้นถ้าอยากได้ภาพแบบเต็มๆ โดนตัดทิ้งน้อยสุด ก็เลือกสัดส่วนภาพ 3:2

แต่...

เทคโนโลยีกล้องไม่ได้มีแค่แบบเดียว
เรายังมีเซนเซอร์กล้องที่เรียกว่า 4/3 (Four Thrid System)
ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในกล้องยี่ห้อ Olympus กับ panasonic

รายละเอียดของกล้องระบบนี้ ไปหาอ่านเองละกันนะ เพราะมันยาวมาก ^^'a

กล้องระบบ 4/3 นี้จะใช้เซนเซอร์ที่มีสัดส่วน 4:3 ต่างไปจากกล้องที่พูดถึงข้างบน
ดังนั้นภาพที่ได้จากกล้องระบบนี้ ถ้าต้องการภาพแบบเต็มๆ เซนเซอร์ ก็ตัองเลือกสัดส่วน 4:3
(ชื่อระบบกล้องก็บอกอยู่แล้วไง ฮ่า)

ถ้าเลือกสัดส่วนภาพเป็น 3:2 มันจะถูกตัดภาพด้านข้างให้เล็กลง

ดังนั้นถ้าอยากเลือกบันทึกภาพแบบคุ้มค่าไม่เหลือทิ้ง ก็พิจารณาจากเหตุผลที่เล่ามาให้ฟังได้

แต่ผมเลือกจากเหตุผลการใช้งานมากกว่า เพราะว่าถ้าต้องการใช้ภาพสัดส่วน 16:9 ถึงจะถ่ายมา 3:2 หรือ 4:3 มันก็ถูกตัดทิ้งไปอยู่ดี แถมยังเป็นงานมากขึ้นไปอีก ตอนถ่ายก็ลำบากเพราะต้องคำนวณภาพเผื่อๆ

อันนี้ก็แล้วแต่ชอบใจนะ ว่าจะเลือกแบบไหน



แล้วถ้าเราถ่ายภาพมาที่สัดส่วน 4:3 หรือ 16:9 บางทีเวลาเราไปอัดลงกระดาษ
บางร้านจะทำภาพของเราให้เต็มกระดาษ ด้วยการ "ตัด" บางส่วนของภาพทิ้งไป
เพื่อที่เวลาอัดภาพมาแล้วจะไม่มีแถบขาวๆ ด้านข้าง ด้านบนล่าง มาให้รำคาญสายตา

ลองดูภาพเปรียบเทียบสัดส่วนของขนาดภาพ

สีแดงเต็มพื้นที่คือภาพสัดส่วน 3:2 สำหรับอัดลงกระดาษอัดภาพ

ถ้าเราถ่ายภาพด้วยสัดส่วน 4:3 (สีเขียว) แล้วอัดลงกระดาษ
จะเห็นว่ามีพื้นที่ด้านซ้ายขวาที่สั้นกว่ากระดาษ

ถ้าเราถ่ายภาพด้วยสัดส่วน 16:9 (สีน้ำเงิน) แล้วอัดลงกระดาษ
จะเห็นว่ามีพื้นที่ด้านบนล่างที่สั้นกว่ากระดาษ




หากเราต้องการให้ร้านอัดภาพลงกระดาษให้ โดยที่เขาไม่ตัดภาพ เราก็บอกเขาไปว่า

"อัดเต็มไฟล์" ไม่ต้องตัดภาพ
แค่นี้เราก็จะได้ภาพตามที่ต้องการล่ะ - -)v

เท่านี้เวลาที่เราเลือกขนาดภาพ ก็มีแนวทางให้ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกสัดส่วนภาพขนาดไหนดี



เปรียบเทียบสัดส่วนภาพทั้งสามขนาด



.

[อัปเดต  10 กุมภาพันธ์ 2016]

ขนาดกระดาษอัดภาพ ที่ใช้งาน (อ้างอิงจาก http://www.snowwhite.co.th/articles/printing-tips-2.html)

จากที่มาของตารางนี้ กล้อง DSLR ใช้สัดส่วนภาพ 3:2 , กล้องคอมแพค ใช้สัดส่วนภาพ 4:3 ซึ่งในปัจจุบัน กล้อง DSLR หรือกล้องคอมแพค มักจะสามารถตั้งค่าสัดส่วนภาพได้ทั้ง 3:2, 4:3, 16:9 อยู่แล้ว :)

ร้านจากลิงก์ที่แปะมา ใช้วิธีขยายภาพให้เต็มพื้นที่ เพื่อไม่ให้มีขอบขาวด้านบนล่าง-ด้านข้าง ทำให้บางส่วนของภาพต้องถูกตัดทิ้งไป

ขนาดกระดาษ (นิ้ว) สัดส่วนรูป (ยาว:กว้าง) กล้อง DSLR กล้องคอมแพค
4"x6" 3:2 พอดี ถูกตัดเล็กน้อย
5"x7" 7:5 ถูกตัดเล็กน้อย ถูกตัดเล็กน้อย
6"x8" 4:3 ถูกตัดเล็กน้อย พอดี
6x9" 3:2 พอดี ถูกตัดเล็กน้อย
8x10" 5:4 ถูกตัดเล็กน้อย ถูกตัดเล็กน้อย
8x12" 3:2 พอดี ถูกตัดเล็กน้อย
10x12" 6:5 ถูกตัดเล็กน้อย ถูกตัดเล็กน้อย
10x15" 3:2 พอดี ถูกตัดเล็กน้อย
12x15" 5:4 ถูกตัดเล็กน้อย ถูกตัดเล็กน้อย
12x16" 4:3 ถูกตัดเล็กน้อย พอดี
12x18" 3:2 พอดี ถูกตัดเล็กน้อย
16x20" 5:4 ถูกตัดเล็กน้อย ถูกตัดเล็กน้อย
16x24" 3:2 พอดี ถูกตัดเล็กน้อย
20x24" 6:5 ถูกตัดเล็กน้อย ถูกตัดเล็กน้อย
20"x30" 3:2 พอดี ถูกตัดเล็กน้อย
24"x30" 5:4 ถูกตัดเล็กน้อย ถูกตัดเล็กน้อย
24"x36" 3:2 พอดี ถูกตัดเล็กน้อย


10 ความคิดเห็น:

  1. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ
  2. สงสัยประโยคนี้ครับ "ลองเอาตัวเลข 4:3 มาคูณ เพื่อเทียบกับสัดส่วนภาพ 3:2 ดูนะ ลองคูณค่าแรกด้วย 2 และคูณค่าหลังด้วย 2 จะได้ผลออกมาคือ
    4:3 คูณ 2 = 8 x 6 นิ้ว
    3:2 คูณ 3 = 9 x 6 นิ้ว
    จะเห็นได้ว่าสัดส่วน 3:2 นั้นมีพื้นที่ด้านยาว 9 นิ้ว ซึ่งมากกว่าสัดส่วน 4:3 ที่มีพื้นที่ด้านยาวเพียง 8 นิ้ว" . .. . ทำไมไม่คูณด้วย 2 ให้เหมือนกันครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. เพราะต้องการยกตัวอย่างให้เห็นว่า ถ้าความสูงเท่ากัน คือ 6 นิ้ว
      - 4:3 ใช้ 2 คูณสัดส่วนความสูงเพื่อให้ความสูงเป็น 6 นิ้ว (ขนาดภาพ 8 x 6 นิ้ว)
      - 3:2 ใช้ 3 คูณสัดส่วนความสูงเพื่อให้ความสูงเป็น 6 นิ้ว (ขนาด 9 x 6 นิ้ว)

      ถ้าจะให้เห็นภาพชัดเจน ก็ต้องเอาค่าที่ได้ มาหารด้วย 1.5 อีกที เพื่อจะได้เห็นขนาดชัดเจน แบบนี้ครับ
      4:3 คูณ 2 = 8 x 6 นิ้ว หาร 1.5 = 5.3 x 4 นิ้ว
      3:2 คูณ 3 = 9 x 6 นิ้ว หาร 1.5 = 6 x 4 นิ้ว

      จะเห็นว่าความกว้างของ 4:3 น้อยกว่า 3:2 น่ะครับ

      ดังนั้นพอเอาไปอัดภาพลงกระดาษขนาดจัมโบ้ ซึ่งมีขนาด 3:2
      เลยทำให้ภาพถ่ายของเรา มีขนาดไม่พอดีกับขนาดกระดาษอัดภาพ

      สิ่งที่ร้านอัดภาพทำให้เรา จะมี 2 แบบ คือ
      1. มีขอบขาวอยู่ด้านข้าง (เพราะ 4:3 เมื่อขยายให้ความสูงเต็ม 4 นิ้ว ด้านกว้างจะไม่ถึง 6 นิ้ว)
      2. ภาพเต็มกระดาษ ไม่มีขอบขาว แต่ภาพจะถูกตัดด้านบน (หรือด้านล่าง หรือทั้งสองด้าน) ออกไป

      ถ้าเราไม่ได้ระบุว่าจะเลือกแบบไหน ร้านเขาก็จะเลือกเองตามใจร้านว่าจะทำแบบไหน แต่ละร้านไม่เหมือนกัน แต่ยังไงก็ต้องเลือก 1 ใน 2 นี้เท่านั้น ผมเองเคยเจอทั้ง 2 แบบครับ

      :)

      ลบ
    2. เอาสะเข้าใจเลยครับขอบคุณมากๆเลยครับผม

      ลบ
    3. เอาสะเข้าใจเลยครับขอบคุณมากๆเลยครับผม

      ลบ
  3. ขนาดภาพที่ใช้ทั่วไป ตั้งที่เท่าไหรครับ เช่น 6000×4000 หรือ ควรเท่าไหร่ครับ อัดภาพปกติ

    ตอบลบ
  4. ขนาดภาพที่ใช้ทั่วไป ตั้งที่เท่าไหรครับ เช่น 6000×4000 หรือ ควรเท่าไหร่ครับ อัดภาพปกติ

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ5 มีนาคม 2561 เวลา 22:52

    ผมอยากรู้ว่า 16*9 มันคำนวนมายังไงคำ

    ตอบลบ
  6. เเล้วa+3=2คืออะไรหรอค้ะ

    ตอบลบ