วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ใส่พิกัดของสถานที่ลงในภาพถ่าย

(รอเอาภาพประกอบมาใส่เพิ่ม)

เคยไหมว่าไปเที่ยวมาแล้วถ่ายภาพเก็บไว้ แต่พอเวลาผ่านไปแล้วเอาภาพมาดู เอ่อ… ถ่ายเอาไว้ที่ไหนหว่า

รู้ไหมว่าข้อมูลของรูปภาพนั้น เราสามารถเอาตำแหน่งพิกัดละติจูด ลองติจูด และความสูงเหนือระดับน้ำทะเล ใส่รวมลงไปในรูปภาพได้ด้วย

ในสมัยก่อน การที่จะเอาตำแหน่งพิกัดใส่ลงไปนั้นค่อนข้างเป็นเรื่องยุ่งยาก และต้องใช้เครื่องมือเฉพาะทาง แต่เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้เราทำสิ่งเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น

เมื่อก่อน เราต้องใช้อุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียม ที่เรียกว่า GPS Tracking หรือ GPS Logging เพื่อบันทึกตำแหน่ง แต่ในปัจจุบัน โทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน ส่วนจะจับสัญญาณได้ดี หรือแม่นยำแค่ไหน นั่นก็เป็นอีกเรื่อง ตามราคาและคุณภาพของอุปกรณ์ (><)

การเตรียมตัวก่อนใช้งาน ก็ต้องดาวน์โหลดแอปบนโทรศัพท์มือถือ และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มาเก็บไว้ก่อน


โทรศัพท์มือถือ

ผมเองใช้แต่มือถือระบบ android ก็เลยจะแนะนำแค่ระบบนี้ ส่วนใครใช้ iPhone หรือ Windows Phone ก็น่าจะมีแอปทำนองนี้ แต่ต้องไปหากันเอาเอง

ตัวที่ผมใช้อยู่ตอนนี้คือ Sony Xperia S ในความรู้สึกตั้งแต่ใช้งานครั้งแรกจนมาถึงทุกวันนี้คือ ไม่ถูกใจซักอย่าง ยกเว้นเรื่องการจับสัญญาณ GPS ที่เร็วมากๆ เร็วกว่าเครื่องอื่นๆ ที่เคยใช้มาเยอะ เรียกได้ว่าหยิบขึ้นมาตอนไหน ก็รู้ตำแหน่งตัวเองตอนนั้นแทบจะทันที

ผมใช้แอป GPS Essentials สำหรับบันทึกตำแหน่ง ไฟล์ขนาดประมาณ 6 MB ที่จริงก็มีแอปตัวอื่นอีก เช่น GPS Logger for Android (ขนาดราว 2 MB) ฯลฯ

โปรแกรมคอมพิวเตอร์

ผมใช้โปรแกรม ชื่อ ExifTool ซึ่งมีทั้งเวอร์ชันสำหรับ Windows, Mac, Linux แต่เนื่องจากตัวโปรแกรมนี้ต้องพิมพ์คำสั่งเอง ซึ่งคนที่ไม่คล่อง ก็จะงงๆ ได้ เลยมีคนทำหน้าตาให้ใช้ง่ายขึ้น คือ ExifTool GUI


เราต้องโหลดโปรแกรมทั้ง ExifTool และ ExifTool GUI มาก่อน

ExifTool GUI นั้น มีเวอร์ชัน 3, 4 และ 5 ซึ่งผมใช้เวอร์ชัน 4 คู่กับ 5 เนื่องจากยังงงๆ กับเมนูบางอย่างของเวอร์ชัน 5 ที่หาไม่เจอ

เมื่อได้ทั้งสองไฟล์มาแล้ว ก็แตก zip เอาไฟล์ไปใส่ไว้ในโฟลเดอร์ที่ต้องการ เช่น D:\ExifToolGUI

เปลี่ยนชื่อไฟล์ exiftool(-k).exe ให้เป็น exiftool.exe

เวลาเรียกใช้งาน ให้เรียกจากไฟล์ ExifToolGUI ซึ่งจะเป็นหน้าต่างขึ้นมาให้เราจิ้มกดได้

ขั้นตอน 1: ตั้งเวลากล้องถ่ายรูปให้ตรงกับเวลาของโทรศัพท์มือถือ

ตั้งเวลาของกล้องถ่ายรูป ให้ตรงกับเวลาของโทรศัพท์มือถือ ควรให้ตรงกันในระดับของวินาทีด้วย ข้อนี้สำคัญมาก ไม่งั้นเวลาของภาพถ่ายจะคลาดเคลื่อนจากเวลาที่เราบันทึกตำแหน่งในโทรศัพท์มือถือ นอกจากจะบันทึกผิดตำแหน่งแล้ว บางทีอาจจะทำให้บันทึกตำแหน่งไม่ได้อีกด้วย

ขั้นตอน 2: เปิดแอป GPS สำหรับบันทึกตำแหน่งพิกัด

อย่าลืมเปิดฟังก์ชัน GPS ของโทรศัพท์ให้ทำงานก่อน แล้วเรียกแอป GPS Essentials (หรือแอปตัวอื่นที่เราเลือกใช้) ขึ้นมา ดูสัญลักษณ์ของ GPS ว่านิ่งหรือยัง ถ้าจุดกลมๆ ยังกระพริบอยู่ แปลว่าโทรศัพท์มือถือยังจับสัญญาณดาวเทียมไม่ได้ ซึ่งจะจับได้เร็วหรือช้าก็แล้วแต่เครื่องด้วย และสถานที่ก็มีส่วน ถ้าอยู่ในอาคาร หรือใต้สะพาน หรือเมฆครึ้ม อาจจะใช้เวลานาน หรือจับตำแหน่งดาวเทียมไม่ได้เลย

  1. เมื่อเปิดแอปขึ้นมา ให้เราเลือกเมนู Tracks มีไอคอนเป็นรูปรอยเท้าหมาสี่รอย
  2. หากต้องการเริ่มบันทึกเส้นทาง ด้านขวาล่างจะมีรูปปุ่มวงกลมมีจุดแดงตรงกลาง เมื่อจิ้มแล้ววงกลมจุดแดงจะเปลี่ยนเป็นจุดขาว แสดงว่ากำลังบันทึกเส้นทางอยู่
  3. หากต้องการให้หยุดบันทึก ก็จิ้มวงกลมอีกที ก็จะมีจุดแดงขึ้นมา แปลว่าตอนนี้หยุดการบันทึกแล้ว
  4. สรุปว่า ถ้าวงกลมมีจุดแดง แปลว่า ไม่ได้บันทึกเส้นทาง แต่ถ้าเป็นจุดขาว แสดงว่ากำลังบันทึกเส้นทางอยู่
  5. ในระหว่างที่กำลังบันทึกเส้นทางนั้น เราสามารถออกจากแอปได้ จะมีไอคอนอยู่ที่แถบแจ้งเตือนด้านซ้านบน ว่าแอปยังทำงานอยู่ ดังนั้นถ้าต้องการออกจากแอป จะต้องหยุดบันทึกเส้นทางเสียก่อน
  6. เมื่อเราต้องการเอาไฟล์เส้นทางที่บันทึกไว้มาใช้ ต้องหยุดการบันทึกก่อน จากนั้นให้กดปุ่มเมนู เพื่อเรียกเมนูขึ้นมา แล้วเลือกที่ Export
  7. หน้าต่างสำหรับ export นั้น บรรทัดบนคือประเภทของไฟล์ที่เราต้องการ ตอนแรกจะเป็น KML (Google Earth) ให้เลือกเปลี่ยนประเภทเป็น GPX 1.1
  8. บรรทัดถัดมาคือชื่อ และที่อยู่ของไฟล์ เราจะเปลี่ยนชื่อไฟล์ใหม่เพื่อให้อ่านเข้าใจง่ายๆ ก็ได้
  9. จากนั้นกดปุ่มบันทึก (รูปสามเหลี่ยมเหมือนเครื่องบินกระดาษ ด้านขวาล่าง) หรือจะกดปุ่มแชร์ (รูปเครื่องหมายน้อยกว่า อยู่ด้านล่างตรงกลาง) เพื่อส่งไปทางอีเมล์ หรืออื่นๆ
  10. จะได้ไฟล์นามสกุล .gpx ซึ่งปกติจะอยู่ที่ sd card นอกสุด ให้ copy ไปไว้ที่เดียวกับโฟลเดอร์ที่เราเก็บภาพถ่าย จะได้หาง่ายๆ
  11. หากเราไปถ่ายหลายที่ แล้วต้องการบันทึกเส้นทางให้เป็นไฟล์ใหม่ จะได้ไม่ปนกัน ก็ทำได้โดยขณะที่อยู่ที่หน้าสำหรับบันทึกเส้นทาง ที่มีวงกลมจุดแดงอยู่ด้านขวาล่างนั้น ตรงตำแหน่งซ้ายล่างจะมีรูปเครื่องหมาย + ในวงกลม เมื่อกดปุ่มนี้ ก็จะเริ่มต้นบันทึกเส้นทางลงในไฟล์ใหม่
  12. วิธีจะเปลี่ยนไฟล์เส้นทาง ไปใช้ไฟล์อื่นในกรณีที่มีหลายไฟล์ หน้าที่สั่งบันทึกเส้นทาง ด้านซ้ายบนจะมีไอคอนรูปรอยเท้าหมา จิ้มลงไปก็จะมีให้เราเลือกว่าจะใช้งานไฟล์ไหน

ขั้นตอน 3: บันทึกตำแหน่งพิกัดลงในภาพถ่าย

  1. คัดลอกไฟล์ภาพถ่ายมาเก็บไว้ในคอมฯ จากนั้นเปิดโปรแกรม ExifTool GUI ขึ้นมา แล้วเลือกไปที่โฟลเดอร์ที่เราเก็บภาพถ่ายเอาไว้
  2. คลิกเลือกไฟล์ภาพถ่าย (ปกติก็จะเลือกทุกไฟล์ในโฟลเดอร์นั้นอยู่แล้ว) กด shift หรือ ctrl เพื่อเลือกหลายไฟล์
  3. เมนู Export/Import >> Import GPS data from >> Log files…
  4. จะมีหน้าต่างขึ้นมา ในช่อง Log file: กดปุ่ม … แล้วเลือกไฟล์ *.gpx แล้วกดปุ่ม open
  5. กดปุ่ม Execute ที่ขวาล่างของหน้าต่าง
  6. รอจนกระทั่งโปรแกรมทำงานเสร็จ เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ


* * * * * * * * * *

[Keyword]


GPS, tracking, logger, , พิกัด, ตำแหน่ง, ดาวเทียม

2 ความคิดเห็น: