วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

อยากหัดถ่ายภาพ จะใช้กล้องแบบไหนดีนะ

ทุกวันนี้เทคโนโลยีทำให้การถ่ายภาพง่ายขึ้นมากและราคาถูกลง รวมทั้งการที่โทรศัพท์มือถือมีกล้องทำให้ถ่ายรูปแล้วก็ส่งไปอวดเพื่อนๆ ใน Facebook,  Twitter, Instagram, Line ฯลฯ ได้ทันที ทำให้หลายๆ คนถ่ายรูปกันมากขึ้น

แต่ว่ากล้องโทรศัพท์มือถือนั้นก็มีขีดจำกัดของมันอยู่ที่จะได้ภาพสวยๆ

บางคนพอเห็นคนอื่นใช้กล้องจริงๆ ถ่ายรูปออกมาแล้วดูสวย ก็เกิดความรู้สึกอยากถ่ายได้ภาพสวยๆ แบบนั้นบ้าง หลายครั้งที่เราจะเจอคนถามว่าใช้กล้องอะไรถ่าย จะได้ซื้อมาใช้บ้าง จะได้ถ่ายได้สวยๆ

แต่พอซื้อมาแล้ว อ้าว ทำไมถ่ายเองไม่เห็นสวยแบบที่คนอื่นถ่ายเลย
แสดงว่ากล้องที่ซื้อมา มันไม่ดีสินะ ฮ่า


ก่อนที่จะเลือกกล้อง ก็เอาเป็นว่าเรามาทำความเข้าใจเรื่องของกล้องกันก่อนดีกว่า

ในท้องตลาดตอนนี้ ถ้าจะแบ่งกล้องเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ผมจะแบ่งได้ 3 กลุ่ม

1. กล้องโทรศัพท์มือถือ
2. กล้องคอมแพ็ค
3. กล้องใหญ่

ต่อไปก็จะอธิบายลักษณะกล้อง ตามความเข้าใจของผม

กล้องที่คนถ่ายรูปไม่เป็น ถ่ายแล้วมีโอกาสได้ภาพมากที่สุด คือ กล้องโทรศัพท์มือถือ
เพราะว่าเราเห็นหน้าจอก่อนถ่ายได้เลย

ขอเทียบเหตุการณ์จริงจากตัวเองและคนใกล้ตัวเลยนะ

ก่อนผมจะหัดถ่ายรูปด้วยกล้องใหญ่ ผมก็มีใช้กล้องคอมแพ็คถ่ายรูปบ้าง แต่ถ่ายแล้วก็ไม่เคยได้เอามาดูหรอก ฮ่า
พอเอาภาพที่ถ่ายเมื่อกลางปีมาเปิดดู พบว่าภาพเสียมากกว่าดี T-T

เมื่อต้นเดือน พี่สาวให้ผมช่วยล้างข้อมูลภาพจากโทรศัพท์และกล้องคอมแพ็ค
พอเปิดดูรูปภาพที่ถ่ายมาแล้ว อาการเดียวกัน คือภาพในมือถือยังดูดีกว่าในกล้อง ฮ่า

ที่ว่าภาพเสีย ก็คือภาพเบลอ เบลอแบบโฟกัสไม่เข้าบ้าง ความเร็วชัตเตอร์ช้าบ้าง มืดดำบ้าง
เป็นภาพที่ถ่ายในบ้าน ในอาคาร หรือตอนค่ำๆ


การถ่ายภาพเนี่ย พอแสงน้อย โอกาสที่ภาพเสียเพราะเบลอจะเยอะ
ถ้าเป็นกล้องโทรศัพท์มือถือ จะถ่ายได้ง่ายสุด พกสะดวกสุด
แต่ก็ได้คุณภาพของภาพต่ำสุดในบรรดากล้องทั้งหลายทั้งปวง

กล้องใหญ่จะได้คุณภาพรูปที่ดีสุด แต่ต้องใช้เวลาศึกษากับมันพอสมควรเลย
เพราะถ้าไม่ศึกษาวิธีการถ่ายภาพ ภาพออกมานี่กระป๋องมาก - -'a
เคยเห็นภาพของหลายคนที่เอามาแปะกระทู้ อย่างกับภาพถ่ายจากกล้องคอมแพค หรือกล้องโทรศัพท์ - -'


โหมดออโต้ของกล้องใหญ่ ไม่ใช่ว่าจะได้ภาพสวยวิ้งเสมอไปหรอกนะ
เจอสถานการณ์ที่แสงไม่ได้สวยจริงๆ ส่วนใหญ่ก็ได้ภาพพอๆ กับกล้องคอมแพ็คนั่นแหละ



ความแตกต่างที่ใช้แยกกลุ่มระหว่างกล้องใหญ่ กับ กล้องคอมแพ็ค ออกจากกัน ก็คือเรื่องของเลนส์
กล้องใหญ่ จะถอดเปลี่ยนเลนส์ได้ แต่กล้องคอมแพ็คจะถอดเปลี่ยนเลนส์ไม่ได้


ทีนี้ถ้าคิดว่าตัวเองพร้อมจะถ่ายรูปด้วยกล้องใหญ่แล้ว ก็มาดูกันต่อ
ตอนนี้จะพูดถึงแต่กล้องใหญ่ล่ะ

คิดว่าแทบทุกคน มักจะถามว่า จะซื้อกล้องตัวไหนดี
ซึ่งมันก็ตอบยาก เพราะต้องดูลักษณะการใช้งานของตัวเราเอง

ถ้าถ่ายรูปเป็นแล้ว ในสถานการณ์ที่แสงโอเคแบบปกติ
บอกได้เลยว่า ใช้กล้องไหน ก็ถ่ายได้สวยเหมือนกันหมด
ปัจจัยเสริม ก็จะเป็นเรื่องของเลนส์

ก็อยู่ที่ตัวเรา ว่าเราชอบกล้องยี่ห้อไหน หน้าตาแบบไหน ลักษณะไฟล์ภาพแบบไหน

แต่ถ้าในสถานการณ์ที่แสงไม่ปกติ นี่ล่ะ ที่กล้องแต่ละตัวทำได้ไม่เท่ากัน เช่น
  • ถ่ายที่แสงน้อย (ในอาคารหรือช่วงค่ำๆ มืดๆ) ,
  • ถ่ายที่แสงมั่ว (ตามงานอีเวนต์ที่มีไฟสีๆ ส่องมา) ,
  • ถ่ายที่แสงมาก (กลางแจ้งแดดเปรี้ยง หรือถ่ายย้อนแสง) ฯลฯ

ที่พูดแต่เรื่องแสง เพราะจะถ่ายภาพให้ดูดี สำคัญสุดคือแสง
ถ้าแสงไม่ดี ถ่ายพริตตี้มายังขี้เหร่เลย - -'a

ทุกวันนี้ไปเดินงาน ไม่เคยคิดจะถ่ายพริตตี้เลย เพราะสภาพแสงในงานมันแย่มาก
จนเราถ่ายภาพไปก็ไม่ได้ภาพสวย ไม่ช่วยให้การหัดถ่ายรูปเลย - -'a
มีหลายคนที่หัดถ่ายภาพ เอาภาพถ่ายพริตตี้มาแปะโชว์ในกระทู้ เห็นแล้วสงสารนางแบบจริงๆ T-T


กล้องใหญ่ก็จะแบ่งกลุ่มออกเป็น 2 พวก คือ กล้อง DSLR และ กล้อง Mirrorless
ซึ่งทั้งสองพวก ก็จะมีประเภทย่อยๆ ลงไปอีก คือ
  • ระดับโปร (สำหรับกลุ่มใช้กล้องเป็นอาชีพ)
  • ระดับกึ่งโปร
  • ระดับเริ่มต้น

สมัยก่อนเห็นแบ่งกันแค่สามกลุ่ม คือ Professional, Mid-range (Semi-Pro), Entry Level
แต่เดี๋ยวนี้ต้องการขยายกลุ่มตลาด เลยมีซอยรุ่น เช่น High-end, Advanced เข้ามาอีกจนงงๆ กับการแบ่งกลุ่มเหมือนกัน

แต่ยังไม่พูดถึงประเภทย่อยล่ะ เอาแค่ความเป็น DSLR กับ Mirrorless ก็พอ
เพราะไม่งั้นยังต้องพูดถึงประเภทกล้องแบบ 4/3, m4/3 อีก

แล้วก็ยังมีกล้องแบบ APS-C กับ Full Frame
ดังนั้นข้ามไปก่อนเต๊อะ ฮ่า


กล้องแบบ DSLR ต่างกับกล้องแบบ Mirrorless ยังไง?


ถ้าตอบแบบเชิงเทคนิค ก็คือ กล้อง DSLR จะมีกระจกสะท้อนภาพ (Digital Single Lens Reflex)
ส่วนกล้อง Mirrorless ก็ตามชื่อนั่นแหละ คือไม่มีกระจกสะท้อนภาพ

แต่ถ้าตอบแบบนี้ บรรดามือใหม่หัดถ่าย ที่จะเลือกซื้อกล้อง ก็คงจะงง ไม่รู้เรื่องอยู่ดี ฮ่า

เอาเป็นว่าแบบง่ายๆ เลยก็แล้วกัน มาดูคุณสมบัติของทั้งสอบแบบที่แตกต่างกัน

กล้อง DSLR

  • ตัวใหญ่กว่า จับถนัดมือกว่า หนักกว่า
  • การควบคุมกล้อง เพื่อเปลี่ยนโหมด เปลี่ยนค่า ปรับค่า ทำได้ง่ายกว่า เพราะปุ่มควบคุมต่างๆ กดปรับได้เลย
  • ประหยัดแบตกว่า
  • ถ่ายกลางแจ้งได้สะดวกกว่า เพราะใช้ช่องมองภาพ ไม่มีปัญหาเรื่องแสงแดด
  • ถ่ายในที่แสงน้อยหรือย้อนแสง จะมีแฟลชหัวกล้องช่วย ซึ่งสามารถปรับความสว่างของแฟลชได้
  • สามารถต่อแฟลชแยกได้ เพื่อการสร้างภาพที่ดีกว่า

กล้อง Mirrorless

  • ตัวเล็กกว่า เบากว่า จับไม่ค่อยถนัดมือ แต่ด้วยความที่กล้องตัวเล็กและเบากว่า ทำให้พกพาสะดวกกว่า
  • การควบคุมกล้อง บางรุ่นก็มีปุ่มควบคุมให้กดด้านนอกได้เลย บางรุ่นต้องเข้าไปเลือกในเมนู สาเหตุเพราะกล้องตัวเล็กกว่า เลยมีพื้นที่ให้ใส่ปุ่มน้อยกว่า
  • เปลืองแบตกว่า เพราะว่าเวลาถ่ายรูป จะแสดงผลบนหน้าจอ LCD ที่ต้องใช้พลังงาน เท่าที่ใช้งานอยู่ แบตก้อนนึงจะได้ราวๆ 2 ชั่วโมง
  • เนื่องจากใช้จอ LCD ในการดูว่ากล้องมองเห็นอะไร ทำให้เวลาที่ต้องถ่ายกลางแสงแดด จะมองหน้าจอแทบไม่เห็น ซึ่งบางรุ่นจะมีช่องมองภาพในตัว แต่บางรุ่นต้องซื้อมาเสียบเอง ราคาก็ค่อนข้างสูง เป็นหมื่นขึ้นไป
  • ส่วนใหญ่ไม่มีแฟลชในตัว บางรุ่นเป็นแฟลชเล็กๆ มาเสียบ ซึ่งไม่ว่าแบบไหนก็ปรับความส่วางของภาพไม่ได้ เวลาถ่ายโดยใช้แฟลช ก็จะได้ภาพสว่างวาบออกมา คือแค่ได้ภาพ แต่อย่าหวังภาพสวย - -'a
  • ส่วนใหญ่จะต่อแฟลชแยกไม่ได้
พอแยกคุณสมบัติข้อดีข้อด้อยแล้ว อาจจะเห็นว่ากล้อง DSLR นี่ดีกว่า Mirrorless แต่ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานของแต่ละคนด้วยล่ะ

ตอนผมหัดถ่ายภาพ ผมเริ่มต้นจากกล้อง Fuji FinePix HS10 ต่อด้วยกล้อง Canon EOS Kiss X3 (450d)
หลังจากหัดถ่ายจริงจัง พบว่าลักษณะการถ่ายภาพของตัวเอง เข้ากับกล้อง Mirrorless มากกว่า เพราะเรื่องการพกพานั่นแหละ

พื้นฐานการเลือกกล้องเบื้องต้น ก็ประมาณนี้ เมื่อเลือกได้แล้วว่าเราน่าจะเหมาะกับกล้องประเภทไหน ก็ไปจับของจริงกันที่ร้านเลย ที่เขามีตัวโชว์ให้ลอง ว่าชอบหน้าตา รูปร่าง หรือเปล่า

พอได้ยี่ห้อ รุ่น ที่ถูกใจแล้วก็มาค้นข้อมูล ว่ายี่ห้อนั้น รุ่นนั้น มีขีดจำกัดอะไรแค่ไหน มีข้อเสียอะไรบ้าง

และเวลาจะซื้อกล้อง ถ้าไปซื้อตามงานกล้อง จะได้พวกส่วนลดที่มากกว่า หรือมีของแถม หรือได้โปรโมชันแลกซื้อ

วงจรชีวิตของกล้องก็เหมือนกับพวกโทรศัพท์มือถือ ราคาลงเร็ว มีรุ่นใหม่ออกทุกปี
ผมเลยรู้สึกว่า เวลาซื้อ เลือกของตกรุ่น จะได้กล้องที่ราคาถูกลงเยอะมาก

แต่หลายคนก็จะคิดว่า เลือกกล้องรุ่นใหม่สุด เพราะจะได้เทคโนโลยีล่าสุด ได้ใช้ไปยาวๆ

ตรงนี้ก็คงแล้วแต่ความชอบของแต่ละคนกันล่ะ - -)v

และอย่าลืมว่า การถ่ายได้ภาพสวยนั้น อุปกรณ์เป็นส่วนเสริมให้เราเรียนรู้ได้เร็วขึ้น แต่เราก็ต้องทำความเข้าใจกับการใช้งานมันด้วย

ไม่งั้นต่อให้มีกล้องดีอยู่ในมือ แต่ถ่ายออกมาแล้วภาพเหมือนใช้โทรศัพท์ถ่าย ก็น่าเสียดาย :)

* * * * * * * * * *

[Keyword]

เลือกกล้อง

.

วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ใส่พิกัดของสถานที่ลงในภาพถ่าย

(รอเอาภาพประกอบมาใส่เพิ่ม)

เคยไหมว่าไปเที่ยวมาแล้วถ่ายภาพเก็บไว้ แต่พอเวลาผ่านไปแล้วเอาภาพมาดู เอ่อ… ถ่ายเอาไว้ที่ไหนหว่า

รู้ไหมว่าข้อมูลของรูปภาพนั้น เราสามารถเอาตำแหน่งพิกัดละติจูด ลองติจูด และความสูงเหนือระดับน้ำทะเล ใส่รวมลงไปในรูปภาพได้ด้วย

ในสมัยก่อน การที่จะเอาตำแหน่งพิกัดใส่ลงไปนั้นค่อนข้างเป็นเรื่องยุ่งยาก และต้องใช้เครื่องมือเฉพาะทาง แต่เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้เราทำสิ่งเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น

เมื่อก่อน เราต้องใช้อุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียม ที่เรียกว่า GPS Tracking หรือ GPS Logging เพื่อบันทึกตำแหน่ง แต่ในปัจจุบัน โทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน ส่วนจะจับสัญญาณได้ดี หรือแม่นยำแค่ไหน นั่นก็เป็นอีกเรื่อง ตามราคาและคุณภาพของอุปกรณ์ (><)

การเตรียมตัวก่อนใช้งาน ก็ต้องดาวน์โหลดแอปบนโทรศัพท์มือถือ และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มาเก็บไว้ก่อน


โทรศัพท์มือถือ

ผมเองใช้แต่มือถือระบบ android ก็เลยจะแนะนำแค่ระบบนี้ ส่วนใครใช้ iPhone หรือ Windows Phone ก็น่าจะมีแอปทำนองนี้ แต่ต้องไปหากันเอาเอง

ตัวที่ผมใช้อยู่ตอนนี้คือ Sony Xperia S ในความรู้สึกตั้งแต่ใช้งานครั้งแรกจนมาถึงทุกวันนี้คือ ไม่ถูกใจซักอย่าง ยกเว้นเรื่องการจับสัญญาณ GPS ที่เร็วมากๆ เร็วกว่าเครื่องอื่นๆ ที่เคยใช้มาเยอะ เรียกได้ว่าหยิบขึ้นมาตอนไหน ก็รู้ตำแหน่งตัวเองตอนนั้นแทบจะทันที

ผมใช้แอป GPS Essentials สำหรับบันทึกตำแหน่ง ไฟล์ขนาดประมาณ 6 MB ที่จริงก็มีแอปตัวอื่นอีก เช่น GPS Logger for Android (ขนาดราว 2 MB) ฯลฯ

โปรแกรมคอมพิวเตอร์

ผมใช้โปรแกรม ชื่อ ExifTool ซึ่งมีทั้งเวอร์ชันสำหรับ Windows, Mac, Linux แต่เนื่องจากตัวโปรแกรมนี้ต้องพิมพ์คำสั่งเอง ซึ่งคนที่ไม่คล่อง ก็จะงงๆ ได้ เลยมีคนทำหน้าตาให้ใช้ง่ายขึ้น คือ ExifTool GUI


เราต้องโหลดโปรแกรมทั้ง ExifTool และ ExifTool GUI มาก่อน

ExifTool GUI นั้น มีเวอร์ชัน 3, 4 และ 5 ซึ่งผมใช้เวอร์ชัน 4 คู่กับ 5 เนื่องจากยังงงๆ กับเมนูบางอย่างของเวอร์ชัน 5 ที่หาไม่เจอ

เมื่อได้ทั้งสองไฟล์มาแล้ว ก็แตก zip เอาไฟล์ไปใส่ไว้ในโฟลเดอร์ที่ต้องการ เช่น D:\ExifToolGUI

เปลี่ยนชื่อไฟล์ exiftool(-k).exe ให้เป็น exiftool.exe

เวลาเรียกใช้งาน ให้เรียกจากไฟล์ ExifToolGUI ซึ่งจะเป็นหน้าต่างขึ้นมาให้เราจิ้มกดได้

ขั้นตอน 1: ตั้งเวลากล้องถ่ายรูปให้ตรงกับเวลาของโทรศัพท์มือถือ

ตั้งเวลาของกล้องถ่ายรูป ให้ตรงกับเวลาของโทรศัพท์มือถือ ควรให้ตรงกันในระดับของวินาทีด้วย ข้อนี้สำคัญมาก ไม่งั้นเวลาของภาพถ่ายจะคลาดเคลื่อนจากเวลาที่เราบันทึกตำแหน่งในโทรศัพท์มือถือ นอกจากจะบันทึกผิดตำแหน่งแล้ว บางทีอาจจะทำให้บันทึกตำแหน่งไม่ได้อีกด้วย

ขั้นตอน 2: เปิดแอป GPS สำหรับบันทึกตำแหน่งพิกัด

อย่าลืมเปิดฟังก์ชัน GPS ของโทรศัพท์ให้ทำงานก่อน แล้วเรียกแอป GPS Essentials (หรือแอปตัวอื่นที่เราเลือกใช้) ขึ้นมา ดูสัญลักษณ์ของ GPS ว่านิ่งหรือยัง ถ้าจุดกลมๆ ยังกระพริบอยู่ แปลว่าโทรศัพท์มือถือยังจับสัญญาณดาวเทียมไม่ได้ ซึ่งจะจับได้เร็วหรือช้าก็แล้วแต่เครื่องด้วย และสถานที่ก็มีส่วน ถ้าอยู่ในอาคาร หรือใต้สะพาน หรือเมฆครึ้ม อาจจะใช้เวลานาน หรือจับตำแหน่งดาวเทียมไม่ได้เลย

  1. เมื่อเปิดแอปขึ้นมา ให้เราเลือกเมนู Tracks มีไอคอนเป็นรูปรอยเท้าหมาสี่รอย
  2. หากต้องการเริ่มบันทึกเส้นทาง ด้านขวาล่างจะมีรูปปุ่มวงกลมมีจุดแดงตรงกลาง เมื่อจิ้มแล้ววงกลมจุดแดงจะเปลี่ยนเป็นจุดขาว แสดงว่ากำลังบันทึกเส้นทางอยู่
  3. หากต้องการให้หยุดบันทึก ก็จิ้มวงกลมอีกที ก็จะมีจุดแดงขึ้นมา แปลว่าตอนนี้หยุดการบันทึกแล้ว
  4. สรุปว่า ถ้าวงกลมมีจุดแดง แปลว่า ไม่ได้บันทึกเส้นทาง แต่ถ้าเป็นจุดขาว แสดงว่ากำลังบันทึกเส้นทางอยู่
  5. ในระหว่างที่กำลังบันทึกเส้นทางนั้น เราสามารถออกจากแอปได้ จะมีไอคอนอยู่ที่แถบแจ้งเตือนด้านซ้านบน ว่าแอปยังทำงานอยู่ ดังนั้นถ้าต้องการออกจากแอป จะต้องหยุดบันทึกเส้นทางเสียก่อน
  6. เมื่อเราต้องการเอาไฟล์เส้นทางที่บันทึกไว้มาใช้ ต้องหยุดการบันทึกก่อน จากนั้นให้กดปุ่มเมนู เพื่อเรียกเมนูขึ้นมา แล้วเลือกที่ Export
  7. หน้าต่างสำหรับ export นั้น บรรทัดบนคือประเภทของไฟล์ที่เราต้องการ ตอนแรกจะเป็น KML (Google Earth) ให้เลือกเปลี่ยนประเภทเป็น GPX 1.1
  8. บรรทัดถัดมาคือชื่อ และที่อยู่ของไฟล์ เราจะเปลี่ยนชื่อไฟล์ใหม่เพื่อให้อ่านเข้าใจง่ายๆ ก็ได้
  9. จากนั้นกดปุ่มบันทึก (รูปสามเหลี่ยมเหมือนเครื่องบินกระดาษ ด้านขวาล่าง) หรือจะกดปุ่มแชร์ (รูปเครื่องหมายน้อยกว่า อยู่ด้านล่างตรงกลาง) เพื่อส่งไปทางอีเมล์ หรืออื่นๆ
  10. จะได้ไฟล์นามสกุล .gpx ซึ่งปกติจะอยู่ที่ sd card นอกสุด ให้ copy ไปไว้ที่เดียวกับโฟลเดอร์ที่เราเก็บภาพถ่าย จะได้หาง่ายๆ
  11. หากเราไปถ่ายหลายที่ แล้วต้องการบันทึกเส้นทางให้เป็นไฟล์ใหม่ จะได้ไม่ปนกัน ก็ทำได้โดยขณะที่อยู่ที่หน้าสำหรับบันทึกเส้นทาง ที่มีวงกลมจุดแดงอยู่ด้านขวาล่างนั้น ตรงตำแหน่งซ้ายล่างจะมีรูปเครื่องหมาย + ในวงกลม เมื่อกดปุ่มนี้ ก็จะเริ่มต้นบันทึกเส้นทางลงในไฟล์ใหม่
  12. วิธีจะเปลี่ยนไฟล์เส้นทาง ไปใช้ไฟล์อื่นในกรณีที่มีหลายไฟล์ หน้าที่สั่งบันทึกเส้นทาง ด้านซ้ายบนจะมีไอคอนรูปรอยเท้าหมา จิ้มลงไปก็จะมีให้เราเลือกว่าจะใช้งานไฟล์ไหน

ขั้นตอน 3: บันทึกตำแหน่งพิกัดลงในภาพถ่าย

  1. คัดลอกไฟล์ภาพถ่ายมาเก็บไว้ในคอมฯ จากนั้นเปิดโปรแกรม ExifTool GUI ขึ้นมา แล้วเลือกไปที่โฟลเดอร์ที่เราเก็บภาพถ่ายเอาไว้
  2. คลิกเลือกไฟล์ภาพถ่าย (ปกติก็จะเลือกทุกไฟล์ในโฟลเดอร์นั้นอยู่แล้ว) กด shift หรือ ctrl เพื่อเลือกหลายไฟล์
  3. เมนู Export/Import >> Import GPS data from >> Log files…
  4. จะมีหน้าต่างขึ้นมา ในช่อง Log file: กดปุ่ม … แล้วเลือกไฟล์ *.gpx แล้วกดปุ่ม open
  5. กดปุ่ม Execute ที่ขวาล่างของหน้าต่าง
  6. รอจนกระทั่งโปรแกรมทำงานเสร็จ เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ


* * * * * * * * * *

[Keyword]


GPS, tracking, logger, , พิกัด, ตำแหน่ง, ดาวเทียม

วันเสาร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2557

อ่านค่า Exif ของไฟล์รูปภาพด้วย Pascal

ในหลายๆ ครั้งต้องการจะอ่านค่า Exif ของไฟล์นั้นออกมา ซึ่งถ้าต้องการแค่ดูเฉยๆ ก็ไม่ได้ยากอะไร เพราะโปรแกรมดูภาพส่วนใหญ่ก็สามารถแสดงค่านี้ออกมาได้ หรือแม้แต่ตอนเปิดดูภาพจากเว็บด้วย Firefox หรือ Google Chrome ก็มีส่วนเสริมที่ทำให้แสดงค่านี้ออกมาได้เลย

แต่ถ้าหากว่าต้องการดึงค่านี้ออกมา เช่น ดึงออกมาเพื่อจะนำมาใส่ลงไปในรูปภาพ ก็เลยไปคุ้ยๆ ข้อมูลว่าจะทำได้ยังไง ไปเจอเว็บนี้เลยมาเขียนบันทึกแปะไว้ก่อน

เป็นข้อมูลสำหรับการเขียนโปรแกรมด้วยภาษา Pascal ส่วนใครที่เขียนโปรแกรมด้วยภาษาอื่น เช่น Visual C, Visual Basic ฯลฯ ก็ไปหาวิธีกันเอาเองละกัน ^^

เดี๋ยวไว้เขียนโปรแกรมเสร็จเมื่อไหร่ค่อยมาแปะในบล็อกนี้ แต่ไม่มีกำหนดเริ่มงานน่ะสิ - -'a

วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ความแตกต่างระหว่าง Hand held twilight (HHT) กับ Anti Motion Blur (AMB)

กล้อง Sony NEX-5R มีโหมดสำหรับถ่ายภาพกลางคืนอยู่ 2 โหมด คือ Hand held twilight กับ Anti Motion Blur ซึ่งอาจจะงงๆ ว่าทั้ง 2 แบบนี้มันต่างกันยังไง ซึ่งคุณ dji_2000 เขียนอธิบายไว้แบบนี้


HHT = Hand held twilight

หลักการคือ ถ่าย 6 shot แล้วเลือกส่วนที่ดี ของแต่ละภาพ มารวมเป็น 1 ภาพ โดยใช้ speed shutter ต่ำ (ขึ้นกับทางยาวเลนส์)  ผลทำให้ภาพสีสันชัดเจน และ noise เนียน ขึ้น
เมื่อวานได้ทดลองกับ เลนส์ 16mm พบว่า
  • กล้องกำหนดให้ shutter speed ไว้ที่ 1/60  ถ้าใช้เลนส์ 85 f2.8 shutter speed จะเป็น 1/160
  • กล้องกำหนดให้ วัดแสงแบบ เฉลี่ยทั้งภาพ
  • กล้องกำหนดให้ EV = 0
  • กล้องกำหนดให้ F = 4  
  • Creative style = ค่าที่ตั้งก่อนเข้า โหมด HHT

ผลที่ได้พบว่า
  • ถ้าถ่ายภาพนิ่ง ดีเยี่ยม เป็นการเอาส่วนที่ดี ของแต่ละภาพใน 6 ภาพ มารวมเป็น 1 ภาพ
  • Object เคลื่อนไหว เช่นคนเดิน คงได้ภาพที่ดีที่สุดจาก 6 ภาพ เพราะทุกภาพแย่พอๆ กัน
  • คนถ่ายเคลื่อนไหว ภาพจะไม่ดี เคลื่อนมากภาพก็ไม่มีส่วนชัดเลย

อัพเดตเฟิร์มแวร์ของ NEX-5R

โหลดไฟล์อัพเกรดจาก
http://www.sony-asia.com/support/product/nex-5r
http://www.sony.co.th/support/product/NEX-5RY#download

วิธีเช็คว่าเป็นเฟิร์มแวร์รุ่นไหน กดที่
เมนู - การตั้งค่า - รุ่น
Menu - Setup - Version


ดาวน์โหลดเฟิร์มแวร์กล้อง v.1.02 v.1.03
http://www.sony-asia.com/support/download/568375/product/nex-5r
http://www.sony.co.th/support/download/585399/product/nex-5ry


ดาวน์โหลดเฟิร์มแวร์เลนส์ v.02
http://www.sony-asia.com/support/download/519341/product/nex-5r
http://www.sony.co.th/support/download/523576/product/nex-5ry

1. โหลดไฟล์ Setup ของเลนส์รุ่นที่ต้องการอัพเดต
2. ใส่เลนส์ประกอบกับตัวกล้อง ตั้งค่า USB Mode ในกล้องให้เป็น Mass Storage
3. ดับเบิลคลิกไฟล์ Setup ที่โหลดมา เอากล้องเสียบคอมพิวเตอร์ จากนั้นก็รอให้คอมพิวเตอร์เจอกล้อง ใช้เวลาซักพักนึง
4. คลิก Next ไปเรื่อยๆ ถ้าไม่มี error อะไรที่กล้องจะขึ้นว่ากำลังอัพเดตเลนส์อยู่ รอราวๆ 30 วินาทีก็เสร็จ ปิดกล้องถอดแบต เป็นอันเสร็จขั้นตอน



อ่านเพิ่มได้จาก
http://esupport.sony.com/US/p/swu-download.pl?mdl=NEX5R&upd_id=8934&os_group_id=5

วันอังคารที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เลือกสัดส่วนภาพแบบไหนดี 3:2 / 4:3 / 16:9

กล้องดิจิตอลรุ่นใหม่ๆ จะมีให้เลือกขนาดภาพ โดยอิงกับสัดส่วนภาพ

หลายคนอาจจะงงๆ ว่า ขนาดภาพแต่ละแบบ 3:2 , 4:3 , 16:9 มันต่างกันยังไง ใช้แบบไหนดี

กล้องรุ่นแรกๆ จะใช้สัดส่วนภาพแบบ 3:2 ต่อมาหลังๆ ก็จะมีให้เลือกขนาดอื่นๆ ด้วย ทั้ง 4:3 หรือ 16:9 ซึ่งถ้ากล้องใครไม่มีให้เลือก ก็ไม่ต้องตกใจไป ว่าทำไมกล้องไม่เหมือนชาวบ้าน ฮ่า

ที่จริงแล้ว หลายคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่าสัดส่วนของภาพ มันทำให้ขนาดภาพต่างกัน


วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2556

การตั้งค่า Sony NEX-5R

ได้กล้องมาใหม่ คือเจ้า Sony NEX-5R จากงาน Big Pro Day (2013) หลายๆ อย่างต่างจาก Canon Kiss X3 (500D) อยู่พอประมาณ

บันทึกเก็บไว้ก่อน ว่าเมื่อซื้อกล้องมาแล้ว ควรจะต้องตั้งค่าอะไรบ้าง

เมนูกล้อง ถ้าใครอ่านภาษาไทยแล้วงงๆ ก็ปรับเป็นภาษาอังกฤษซะ :P แล้วก็ตั้งวันเวลาให้ตรงตามมาตรฐานโลก เพราะตอนที่ต้องอ้างอิงเวลาจากภาพถ่าย จะได้ไม่พลาด